เรืองศักดิ์ ปิ่นประทีป กับภารกิจของมูลนิธิหนังสือเพื่อเด็ก


คน ๆ หนึ่งจะพยายามทำให้สังคมในเมืองไทยมันดีขึ้น โดยการให้ปัญญากับเด็ก ๆ ด้วยหนังสือ ซึ่งมองอย่างไรก็เป็นเพียงฟันเฟืองชิ้นเล็ก ๆ ที่เข้ามาแก้ปัญหาตรงจุด แต่คำถามที่ตามมาคือ เมื่อไหร่…?

“เวลากว่า 20 ปีที่พี่ทำงานด้านนี้ เป็นการทำงานที่ปลายท่อความทุกข์ของชีวิตเด็ก ซึ่งต้องดูแลเขากับปัญหาเฉพาะหน้าที่เจอ ไม่ว่าจะเป็นความอดอยาก การถูกทารุณกรรม แต่อีกสิ่งหนึ่งที่จะต้องทำคือ ต้นตอของความทุกข์ จะทำอย่างไรที่จะดูแล ‘มูลนิธิหนังสือเพื่อเด็ก’จึงถือกำเนิดขึ้นกับภารกิจ นำหนังสือสู่…เด็ก นำเด็กสู่…หนังสือ ด้วยความคิดว่า การให้ปัญญากับเด็ก ๆ มีค่ามากกว่าสิ่งอื่นใด ปัญญาของเขาจะทำให้เขาสามารถเลี้ยงตัวเองได้ เพราะในความเป็นจริงเราคงไม่สามารถช่วยใครในระยะยาวได้ เท่ากับการให้สติปัญญากับเขา”

นี่คือความคิดและระยะเวลาที่ใช้ไปกับการทำงานช่วยเหลือสังคมของ คุณเรืองศักดิ์ ปิ่นประทีป กรรมการผู้จัดการ มูลนิธิหนังสือเพื่อเด็ก ซึ่งแม้จะยังไม่รู้ความน่าจะเป็นในการพัฒนาสังคมไทยด้วยหนังสือ จะประสบความสำเร็จได้เมื่อไหร่ แต่มูลนิธิหนังสือเพื่อเด็กก็พร้อมที่จะปวารณาตน เพื่อนำหนังสือสู่เด็ก นำเด็กสู่หนังสือ โดยไม่แสวงหาผลกำไรต่อไป

ก่อนมาเป็นกรรมการมูลนิธิหนังสือเพื่อเด็ก คุณเรืองศักดิ์ ผ่านงานด้านความช่วยเหลือสังคมมาหลายรูปแบบ ทั้งงานที่เป็นการช่วยเหลือระหว่างประเทศและภายในประเทศ ซึ่งปัญหาต่าง ๆ ที่เขาได้ช่วยแก้ไขมาตลอด ทำให้เกิดความคิดการแก้ปัญหาที่ต้นตอของสังคม

“งานแรกที่จับเป็นการทำงานกับเด็กด้อยโอกาสของต่างประเทศ โดยการดูแลเด็กแรกเกิดจนถึง 7 ปี พอทำงานตรงนั้นได้ 7-8 ปี กลับรู้สึกว่า คนไทยก็มีหลายกลุ่มที่ด้อยโอกาสเหมือนกัน เพราะสิ่งหนึ่งที่พี่เห็นเป็นภาพติดตาตลอดมาคือ ภาพของเด็กไทยไปเกาะรั้วลวดหนาม ขออาหารจากคนในแค้มป์ผู้อพยพ ซึ่งทาง UN และมหาดไทยของคนไทยดูแลอยู่ จุดพลิกของพี่ก็คือ เราน่าจะหันไปทำงานให้เด็กไทยที่เขายังรอโอกาสอยู่ดีกว่า ปี 35 จึงตัดสินใจมาทำงานที่เป็นการดูแลเด็กด้อยโอกาสในประเทศไทย โดยเข้ามาเป็นกรรมการผู้จัดการสถาบันสวัสดิการและพัฒนาการเด็ก ดูแลเด็กด้อยโอกาส เด็กไม่มีอาหารกิน เด็กที่ไม่มีทุนการศึกษา”

“พี่ทำงานกับองค์กรระหว่างประเทศมา 7 ปี แล้วมาทำงานกับมูลนิธิเด็ก 15 ปี มันก็ใคร่ควรและตอบคำถามของตัวเองว่า เรามาทำงานปลายท่อความทุกข์ของชีวิตเด็ก แต่อีกสิ่งหนึ่งที่ต้องทำคือ ต้นตอของความทุกข์ จะทำอย่างไรที่จะดูแล โชคดีพี่เป็นกรรมการจัดตั้งของมูลนิธิหนังสือเพื่อเด็ก ซึ่งเป็นองค์กรที่จัดตั้งเมื่อปี พ.ศ. 2544 ด้วยวัตถุประสงค์การนำหนังสือสู่เด็ก นำเด็กสู่หนังสือ เรารู้สึกว่าถ้าเด็กได้มีหนังสืออยู่กับตัวนั่นคือองค์ความรู้ นั่นคือแหล่งความรู้ และเขาจะนำเอาความรู้เหล่านี้กลับไปใช้ในชีวิตประจำวันของเขาได้อย่างไร ฉะนั้นมันแยบยลมากกับการทำงานตรงนี้”

ความเป็นมูลนิธิหนังสือเพื่อเด็กเริ่มด้วยโครงการแรก กับโครงการ ‘หนังสือเล่มแรก Bookstart’ ซึ่งได้รับต้นแบบมาจากประเทศอังกฤษ ก็ประสบความสำเร็จในการสร้างความสัมพันธ์ในครอบครัวให้เกิดขึ้น แม้จะกับคนแค่เพียงกลุ่มก้อนเล็ก ๆ เนื่องจากยังขาดซึ่งการสนับสนุน และมีโครงการต่าง ๆ ตามมาติด ๆ เพื่อเร่งการพัฒนาสังคมด้วยหนังสือให้เห็นเป็นรูปธรรม

“โครงการแรกของเรา เกิดจากเลขาธิการมูลนิธิฯ คุณพรอนงค์ นิยมค้า เขาไปเห็นโครงการหนึ่งที่น่าสนใจมากในประเทศอังกฤษคือ โครงการ Bookstart เนื่องจากคนอังกฤษอ่านหนังสือน้อย เขาจึงจัดโครงการนี้ขึ้น โดยแจกถุงหนังสือให้กับคนที่มาคลอดบุตรในโรงพยาบาลและติดตามผล ปรากฏว่าโครงการนี้ประสบความสำเร็จ และที่ประเทศญี่ปุ่นก็ทำโครงการตามนี้เหมือนกัน ซึ่งผลออกมาประสบความสำเร็จอย่างสูงเช่นกัน”

“ประเทศไทยเราก็กล้าหาญที่นำระบบนี้มาทำปี 47 ทั้งที่รู้ว่าระบบบ้านเราไม่อำนวย การตั้งโจทย์ของเราจึงต่างจากประเทศต้นแบบทั้ง 2 ประเทศ โดยการทำโครงการหนังสือเล่มแรกคือ จะทำอย่างไรให้เกิดความสัมพันธ์ที่ดีขึ้นในครอบครัว ก็มีสำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษามาร่วมทำด้วย เราเริ่มกับเด็ก 106 คนกับ 106 ครอบครัว ทำที่จังหวัดราชบุรี เลย ปทุมธานี นครปฐม และที่กรุงเทพฯ และตามเด็กกลุ่มนี้มาเป็นปีที่ 5 แล้ว ซึ่งก็ได้ผลเหมือนกัน แต่สิ่งหนึ่งที่ชัดเจนมากคือ ในเรื่องความสัมพันธ์ที่ดีในครอบครัวเกิดขึ้นจริงอย่างที่เราคาด”

“โครงการหนังสือเล่มแรกปีนี้ทาง สสส.ก็ให้เงินสนับสนุนอยู่ ถ้าไม่มี สสส. มูลนิธิหนังสือเพื่อเด็ด และเลขาธิการสภาการศึกษาก็คงขยายงานไม่ได้ และปีนี้จะกระตุ้นให้มากขึ้น ซึ่งหากมีองค์การหรือหน่วยงานใดในชุมชนอยากทำโครงการแบบนี้เราจะเข้าไปช่วยทำ ไม่ว่าจะเป็นศูนย์เตรียมเด็กเล็กในชุมชน อบต.อยากทำเราก็เข้าไปร่วม TK park เราก็ไปร่วมกับส่วนที่เป็นห้องสมุดชุมชน พอปีหน้าก็จะเกิดความมหัศจรรย์กับโครงการหนังสือเล่มแรกว่า ไม่ว่าคุณจะอยู่สังกัดไหน ก็สามารถมาร่วมกิจกรรมได้ โดยเราพร้อมที่จะผลักดันในระดับชาติ และแอบคิดกันว่าใน 5 ปีข้างหน้า ถุงหนังสือเล่มแรกคงจะได้รับการดูแลจากภาครัฐ”

“และยังมีโครงการ ‘อาหารหนึ่งมื้อ…หนังสือหนึ่งเล่ม’ กับโครงการ ‘อาหารเพลหนึ่งมื้อ…หนังสือหนึ่งเล่ม’ ทำควบคู่กันไปเพื่อสะกิดสังคมให้รู้ว่า ยังมีเด็กด้อยโอกาสอีกมากในสังคมไทย อย่างเด็กผู้ชายที่ไม่มีเงินเรียนเขาต้องใช้ประเพณีการบวชเรียนโบราณ มาบวชเป็นสามเณรแล้วเรียน 80-90% เรียนจบระดับ ม.6 ก็ลาสิขาไปใช้ชีวิตปรกติ เพราะว่าอย่างน้อยเขาก็ได้วุฒิทางการศึกษา ต้องบอกว่าเสียงตอบรับจากสังคมดีมาก อย่างที่คาดไม่ถึงเลย นอกจากนี้ยังมีโครงการอื่น ๆ ที่เราทำอีกมากมาย”

โครงการที่กล่าวมาข้างต้นนี้เป็นเพียงบางส่วนของมูลนิธิหนังสือเพื่อเด็ก ซึ่งหากคุณ ๆ คิดว่าโครงการเหล่านี้จะช่วยพัฒนาสังคมไทยเราได้เหมือนกับผม และเกิดความคิดที่อยากมีส่วนร่วมหรืออยากเข้าไปช่วยเหลือก็ทำได้ไม่ยาก

“หนังสือเก่าของคุณ จะเป็นหนังสือใหม่ของเด็ก ๆ’ เวลาพี่ไปที่ไหนจะบอกอย่างนี้เสมอ แต่การจะบริจาคหนังสือก็ขอร้องให้ช่วยคัดสรรหน่อยอย่าให้สภาพแย่นัก มันจะเหมือนทำบาปกับเราที่จะต้องมานั่งซ่อม โดยหนังสือที่นำมาบริจาคจะเป็นหนังสืออะไรก็สามารถใช้ทำงานได้หมด อีกทั้งยังมีกล่องบริจาคในกรุงเทพฯ ประมาณ 100 กล่องให้ผู้มีจิตเมตตาได้บริจาค”

“พี่มีความสุขมากในการทำงานองค์กรภาคเอกชนทั้งหลายมากว่า 20 ปี และพูดได้ชัดเจนเลยว่าที่นี่เป็นที่แรกที่ไม่ได้เอาเงินบริจาคของประชาชนที่เสียสละให้เราทำงาน มาใช้เป็นค่าบริหารจัดการในองค์กรเลย พี่เอาเงินการบริหารองค์กรมาจาการขายไอเดียทำงานวิจัย ฉะนั้นตัวงานวิจัยคือตัวหล่อเลี้ยงองค์กร ต้องบอกว่า 100% ของคนที่หย่อนสตางค์ในกล่องเล็ก ๆ จะเป็นหนังสือที่เราพร้อมจะส่งไปให้ พี่อยากให้ผู้บริจาคสบายใจได้เลยว่าเงินบริจาคที่คุณหย่อนมา เป็นค่าจัดกิจกรรมที่ลงไปกับเด็กและครอบครัวชุมชน”

“มูลนิธิหนังสือเพื่อเด็กเป็นองค์กรใหม่ พลังสำคัญอยู่ที่ประชาชนทั้งหลาย ถ้าคิดถึงเด็กที่ด้อยโอกาสไม่ว่าจะเป็นกลุ่มไหนก็ตามขอให้ใช้มูลนิธิหนังสือเพื่อเด็กเป็นสะพาน เพื่อเชื่อมระหว่างผู้บริจาคไปถึงเด็กด้อยโอกาสที่รอโอกาส ซึ่งหลบตามมุมอับ ๆ เพื่อรอการมองเห็น รอการช่วยเหลือ”

จากคำถามว่าเมื่อไหร่…? หนังสือจะช่วยพัฒนาสังคมได้อย่างแท้จริง ผมว่าหากคุณได้อ่านบทความนี้แล้ว สิ่งที่คิดเหมือนกันคงจะไม่ใช่จำนวนวัน เวลาที่กำหนดเพื่อแก้ไขปัญหา แต่คงต้องเปลี่ยนเป็นอะไร…? และอย่างไร….? ที่เราทุกคนจะมาช่วยกันได้เพื่อพัฒนาสังคมให้ดีขึ้น เหมือนอย่างที่มูลนิธิหนังสือเพื่อเด็กกำลังทำ และรอการสนับสนุนอยู่ทุกวันนี้

ที่มา :  5 สิงหาคม 2551

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *