กิจกรรมร่วมกับเครือข่ายหนังสือเพื่อเด็กฯ
ด้วยความตระหนักถึงความสำคัญของการใช้หนังสือเป็นเครื่องมือในการพัฒนาเด็ก ซึ่งเป็นทรัพยากรมนุษย์ที่สำคัญของประทศประกอบกับในปัจจุบันเด็กถูกแวดล้อมไปด้วยสื่อนานาชนิด โดยเฉพาะอย่างยิ่งสื่ออิเล็กทรอนิกส์ที่พัฒนาเร็วและมีแรงดึงดูดความสนใจอย่างยิ่ง ซึ่งอาจให้เด็กส่วนใหญ่ใช้เวลาไปกับการดูทีวี เล่นคอมพิวเตอร์ อินเตอร์เน็ตและคุยโทรศัพท์มากกว่าการอ่านหนังสือ
เครือข่ายหนังสือเพื่อเด็กจึงได้ก่อกำเนิดขึ้น โดยมีองค์กรก่อตั้งรวม 25 องค์กร อันประกอบไปด้วย
- กระทรวงศึกษาธิการ
- กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์
- กระทรวงวัฒนธรรม
- กระทรวงสาธารณสุข
- กระทรวงยุติธรรม
- สมาคมผู้จัดพิมพ์และผู้จัดจำหน่ายหนังสือแห่งประเทศไทย
- สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)
- มูลนิธิหนังสือเพื่อเด็ก
- สถาบันวิทยาการการเรียนรู้ (OKMD)
- สำนักงานอุทยานการเรียนรู้ TK -Park
- สมาคมห้องสมุดแห่งประเทศไทย
- สมาคมภาษาและหนังสือ แห่งประเทศไทย
- ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย
- เสถียรธรรมสถาน
- มูลนิธิเพื่อการพัฒนาเด็ก (มพด.)
- มูลนิธิกระจกเงา
- มูลนิธิสิกขาเอเชีย
- สถาบันการ์ตูนไทย มูลนิธิเด็ก
- ศูนย์พัฒนาอัจฉริยภาพเด็กและเยาวชน สถาบันรักลูก
- คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
- เครือข่ายจิตอาสา(YIY)
- ขบวนการนักอ่าน
- ขบวนการตาสับปะรด
- สำนักพิมพ์ชมรมเด็ก
- กลุ่ม We are happy
เครือข่ายหนังสือเพื่อเด็กทั้ง 25 องค์กรข้างต้น ขอประกาศเจตนารมณ์ร่วมกันในการผลักดันหนังสือเพื่อเด็กภายใต้ยุทธศาสตร์ดังนี้
- ยุทธศาสตร์การกระจายหนังสือให้เข้าถึงเด็กโดยผลักดันในการส่งเสริมการอ่านเป็นวาระแห่งชาติ ที่รัฐบาลและพรรคการเมืองต้องมีความชัดเจนด้านนโยบาย ตลอดจนสร้างความร่วมมือกับกลไกต่างๆ ในการสนับสนุนการอ่านของเด็ก และการพัฒนาห้องสมุดชุมชนเป็นแหล่งเรียนรู้อันเป็นการกระจายหนังสือให้ ได้แก่ ครู ผู้ปกครอง และพี่เลี้ยงเด็ก เข้าถึงเด็ก
- ยุทธศาสตร์รณรงค์ให้เกิดความต้องการและพฤติกรรมการอ่าน สร้างเครือข่ายความร่วมมือของสื่อ ในการกระตุ้นการอ่าน และสร้างคุณค่าให้แก่การอ่านหนังสือ ตลอดจนจัดกิจกรรมส่งเสริมการอ่าน ที่เด็กและเยาวชนได้มีส่วนร่วม อย่างสม่ำเสมอ ต่อเนื่อง จนมีนิสัยรักการอ่าน และเพิ่มทักษะในการคัดเลือกหนังสือที่เหมาะสมสอดคล้องกับความต้องการและพัฒนาการของเด็ก
- ยุทธศาสตร์ส่งเสริมให้มีหนังสือที่มีคุณภาพและราคาเหมาะสม ส่งเสริมการศึกษาวิจัยเพื่อประโยชน์ในการกำหนดแนวทางนโยบายการผลิตหนังสือของประเทศ ที่มุ่งส่งเสริมให้มีการผลิตหนังสือดี มีคุณภาพตอบสนองความต้องการของสังคมและประเทศชาติ ตลอดจนส่งเสริมภาคธุรกิจให้มีศักยภาพการผลิตสูงขึ้นและสามารถกำหนดราคาหนังสือให้เหมาะสม เพื่อกระตุ้นความต้องการของตลาด
- ยุทธศาสตร์ปกป้องเด็กจากสื่อที่เป็นภัยและขจัดอุปสรรคต่อการอ่านของเด็ก สนับสนุนกระบวนการเฝ้าระวังสื่อ และกำหนดเกณฑ์ของหนังสือที่เหมาะสมกับวัยของเด็กให้ชัดเจน และเผยแพร่ให้เป็นที่รับรู้ของสาธารณะ ในปี 2550 นี้ เครือข่ายหนังสือเพื่อเด็กจะดำเนินโครงการต่างๆ ที่สนับสนุนยุทธศาสตร์ดังกล่าวข้างต้น โดยมุ่งเน้นหนังสือเพื่อเด็ก 0 – 6 ปี เพื่อบ่มเพาะลักษณะนิสัยให้เด็กมีนิสัยรักการอ่าน ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญต่อผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนและความสำเร็จในชีวิต