สร้างสิ่งแวดล้อม ให้เป็นสิ่งแวดรัก โดย ตุ๊บปอง
ลูกมีพัฒนาการสูงมากตั้งแต่ยังเป็นทารกในขวบปีแรก จากแรกเกิดที่หนอนหงาย ไม่สามารถควบคุมการเคลื่อนไหวส่วนต่างๆของร่างกายได้ดั่งต้องการ สมองส่วนที่ทำหน้าที่เพื่อการอยู่รอดจะค่อย ๆ เรียนรู้ที่จะควบคุมลำคอ กระดูกสันหลังและกล้ามเนื้อส่วนต่างๆ จนคอเริ่มแข็ง กระทั่งพลิกตัวเป็นคว่ำ นั่ง ทรงตัว พยุงตัวจากนอนเป็นนั่ง จากนั่งสู่การใช้แขนขาคืบและคลานจนกระทั่งพยุงตัวตั้งไข่ และสามารถยืนได้ เมื่ออายุได้ 1 ปี 6 เดือน
ขณะที่ร่างกายมีพัฒนาการที่ชัดเจนเช่นนี้ลูกเรียนรู้จากสัมผัสทั้ง 5 ไปพร้อม ๆ กัน ลูกเรียนรู้สิ่งต่าง ๆ รอบตัวได้อย่างดีที่สุด จากสัมผัสทั้ง 5 ได้แก่ การเห็นด้วยตา ฟังด้วยหู สัมผัสด้วยมือ ดมด้วยจมูก และชิมด้วยปาก เมื่อได้สัมผัส รับรู้และเรียนรู้แล้วจะเก็บมูลไว้ในสมอง นำสู่การสร้างเส้นใยประสาทในสมองเชื่อมต่อกันกลายเป็นวงจรการเรียนรู้ต่อไป โดยจะมีผลสูงสุดในช่วง 3 ขวบปีแรก
นับแต่แรกเกิดจนถึง 6 เดือน สิ่งหนึ่งที่ทำให้ลูกเรียนรู้ได้ดีที่สุดคือ ใบหน้าของพ่อแม่เวลาที่ยื่นเข้ามาใกล้ ๆ เพื่อพูดคุย หรือหยอกล้อ แก้มชนแก้ม หน้าชนหน้า ให้ลูกได้ใช้มือลูบไล้ ป้ายแปะ จ้องตาที่กระพริบ มองปากที่ขยับ กับแก้มป่อง ๆ ที่ยิ้มแย้ม ทำให้ลูกยิ้มแต้อย่างมีความสุขได้ทุกครั้ง
จึงเป็นเรื่องที่ดีมาก ๆ หากพ่อแม่จะอ่านหนังสือให้ฟังตั้งแต่ลูกยังเล็ก ขณะที่อ่านก็ยิ้มแย้ม ยักคิ้ว หลิ่วตา ทำตาเล็กตาน้อย กระพริบตาถี่ ๆ ขยับปากหมุบหมับ หยุบหยับ พยักหน้าหงึก ๆ หรือส่ายหน้าขวาซ้าย ลูกจะมีปฏิกิริยาโต้ตอบทันที ทั้งสีหน้า และแววตาที่บอกได้ว่ากำลังมีความสุขกับการเรียนรู้ในครั้งนี้เหลือเกิน
การอ่านหนังสือเช่นนี้นอกจากจะสร้างความน่าสนใจได้อย่างเนียน ๆ แล้วยังช่วยให้ลูกได้ยินเสียงพ่อเสียงแม่ ได้กลิ่นพ่อกลิ่นแม่ ได้เห็นพ่อเห็นแม่ เห็นการพลิกหน้ากระดาษและเห็นภาพในหนังสือ ได้สัมผัสพ่อ สัมผัสแม่และสัมผัสหนังสือ และอาจจะมีการชิมรสเนื้อตัวพ่อแม่และรสชาติของหนังสือผ่านการกัด การเลียอีกด้วย เมื่อตามองเห็นความรัก หูได้ยินเสียงของความรัก จมูกได้กลิ่นของความรัก มือไม้ได้สัมผัสความรัก และปากได้ลิ้มรสความรัก นี่แหละ.. สิ่งแวดล้อมที่เป็นสิ่งแวดรักโดยแท้