เปิดหนังสือ…เปิดหน้าต่างการเรียนรู้ของเด็ก โดย ตุ๊บปอง
นักวิชาการ นักพัฒนาการเด็ก และนักการศึกษา เชื่อว่าถ้าเด็กได้ฟังพ่อแม่อ่านหนังสือตั้งแต่เล็ก เด็กจะมีความสุขมาก และถ้าทำอย่างต่อเนื่องในขวบปีที่สอง ปีที่สาม และปีต่อ ๆ ไป สัก 5 – 6 ปี จะทำให้เด็กเข้มแข็ง และเป็นจุดป้องกันความรุนแรงที่จะเกิดขึ้นในอนาคตได้
การอ่านหนังสือให้เด็กฟังตั้งแต่เล็ก ทำให้เด็กรู้ถึงคุณค่าว่าตนนั้นมีความหมายต่อพ่อแม่เป็นที่สุด เพราะมีพ่อแม่อยู่ ใกล้ ๆ แถมยังอ่านหนังสือให้ฟังอย่างอุ่นใจ รู้สึกเป็นสุขเพราะไม่ถูกทอดทิ้ง ถ้าจะมีอะไรเกิดขึ้น จะมีพ่อแม่อยู่ใกล้ ๆ นี่คือ ต้นทุนที่ทำให้เด็กรู้สึกว่ามีคุณค่า มีความสำคัญ และมีคนรัก
ถ้าเด็กทุกคนมีช่วงเวลาของความสุขเช่นนี้ ความรุนแรงในสังคมจะลดลง เพราะว่าเด็กรู้ถึงคุณค่าในตน พร้อมกับรู้ว่ามีพ่อแม่เป็นที่รักรออยู่ จึงไม่กล้าทำอะไรที่ไม่ดี เพราะเกรงว่าพ่อแม่จะเสียใจ..และไม่รัก
เมื่อพ่อแม่เปิดหนังสือจึงถือเป็นโอกาสในการเปิดหน้าต่างการเรียนรู้ของเด็กด้วยเพราะการเรียนรู้เริ่มที่บ้าน แม่กับลูกอ่านหนังสือด้วยกันในบรรยากาศที่บ้าน ที่ทุกคนรู้สึกปลอดภัย วางใจ ทำให้เด็กกระหายที่จะมีส่วนร่วมในกิจกรรมกับพ่อแม่ สภาพแวดล้อมที่บ้าน พ่อแม่มีความเป็นเจ้าของ มีความคุ้นเคยและกระตือรือร้นที่จะแนะนำ ทำกิจกรรมจากในหนังสือกับลูก ซึ่งถือเป็นการปลูกฝังทักษะและความเข้าใจทางภาษาอันนำไปสู่การซึมซับภาษาอย่างเป็นธรรมชาติ
ส่วนภาวะด้านจิตใจนั้น เด็กจะสนุกกับการใช้หนังสือร่วมกันกับพ่อแม่ ถือเป็นการเพิ่มคุณภาพประสบการณ์การเรียนรู้ สร้างจินตนาการจากหนังสือ ซึ่งเป็นสิ่งที่น่าตื่นเต้นและเป็นมนต์ที่ได้รับจากการเล่านิทานและอ่านหนังสือ ที่นักเขียนค่อยๆ คลี่คลายเรื่องราวให้น่าติดตาม
การให้เด็กจับ และเปิดหนังสือด้วยตัวเอง ทำให้เด็กคุ้นกับรูปร่างของหนังสือ ตัวอักษร ตัวเลขหน้า ภาพ การพลิกหน้า การชี้จากซ้ายไปขวาขณะอ่าน และขณะที่อ่าน พ่อแม่ต้อง รู้จักพูดคุยเพื่อสังเกตว่าลูกเข้าใจคำ และความเพิ่มขึ้น เพราะนี่คือการพัฒนาภาษาของเด็กอย่างมีความหมาย ซึ่งเด็กจะได้เรียนรู้ในการใช้เสียง กล่าวคำต่าง ๆ อย่างมีเป้าหมาย นำสู่การที่เด็กเริ่มใช้คำบอกเล่าประสบการณ์ของตนเอง หรือสิ่งที่คิด ที่รู้สึกได้ต่อไป อันเป็นการขยายความสามารถทางภาษาไปพร้อม ๆ กับการหล่อเลี้ยงจินตนาการและเสริมต่อโดยมีภาพจากในหนังสือเป็นจุดเริ่มต้น