“ต้อง 11 ..7 อย่า” คัมภีร์ในการสร้างลูกรักให้เป็นนักอ่าน (6) โดย ตุ๊บปอง

ลูกรักเป็นนักอ่านแน่ ถ้าพ่อแม่มี ต้อง 11 ..7 อย่า 

อย่าที่ 3 อย่ากังวลใจ

เรื่องนี้ต้องรู้จักปล่อยวาง .. พ่อแม่อย่ากังวลใจไปเลย ถ้าลูกจะหยิบ จับ ตี ทึ้ง ดึง ทุบ แทะ หรือขีดเขียนหนังสือ ซึ่งต้องปล่อยให้ลูกทำตามความต้องการไปก่อน ต้องเข้าใจว่า นั่นเป็นเพราะพ่อแม่ยังไม่ได้สอนให้ลูกใช้หนังสือ ลูกจึงไม่รู้วิธีการเล่นกับหนังสือ เรื่องอย่างนี้เป็นทักษะ..ไม่ใช่เรื่องที่ลูกจะเรียนรู้ได้เอง ดังนั้นพ่อแม่จึงต้องค่อย ๆ สอน อย่าตำหนิ อย่าทำโทษ อย่าด่า อย่าว่า อย่าบ่น

เมื่อลูกจับหนังสือ..ให้อ่านหนังสือ ก็ต้องตอบสนองลูกด้วยการอ่านหนังสือให้ลูกฟัง ต้องเก็บเรื่องการสอนไว้ภายหลัง ไม่ควรใช้เวลาที่ลูกกำลังสนใจ และใจจดจ่ออยู่กับหนังสือ มาสอนถึงพฤติกรรมที่เหมาะ ไม่เหมาะ ควร ไม่ควร หรือจ้ำจำจ้ำไชในเรื่องวินัยของลูกน้อย

อย่าที่ 4 อย่าจ้องแต่จะสอน

พ่อแม่บางคนใช้เรื่องสนุก ๆ ในหนังสือ ภาพสวย ๆ และพฤติกรรมของตัวละครมาเป็นช่องทางในการอบรมบ่มสอนทั้งด้านชีวิต สัจธรรม และพฤติกรรมที่พึงประสงค์ เรื่องนี้..พ่อแม่ต้องเข้าใจ และเตือนตัวเองตลอดเวลานะว่า ลูกยังเล็กเกินกว่าที่พ่อแม่จะมานั่งอบรมบ่มสอนด้วยวาจา โดยเฉพาะการอ่านในครั้งแรก ๆ ต้องอ่านให้จบ ไม่ใช่อ่านไป สอนไป ถ้าเป็นอย่างนี้ ยังไง ๆ ลูกก็เบื่อ เพราะลูกต้องการฟังเรื่องราวในหนังสือ ไม่ใช่มานั่งฟังพ่อแม่สอนเรื่องนั้น เรื่องนี้ ไม่จบสิ้น

เรื่องการสอนที่เป็นการต่อยอดจากหนังสือนั้นต้องทำในช่วงเวลาที่พอดี ๆ ไม่มากจนเกินไป เพราะถ้าทำมากไป จะทำให้ลูกเบื่อหนังสือเพราะช่วงเวลาที่ควรสนุกสนานจากการอ่านกลายเป็นช่วงเวลาที่พ่อแม่จะพูดถึงเรื่องที่น่าเบื่อหน่าย และเรื่องอะไรก็ไม่รู้ที่ยากและไม่เข้าใจ

อย่าที่ 5 อย่าตั้งคำถามมากเกินไป

การตั้งคำถามเป็นปฐมบทของการสอนให้ลูกรู้จักการแก้ปัญหา และการตั้งประเด็นให้พ่อแม่ลูกได้พูดคุย ได้ขบคิด จะทำให้ลูกกล้าที่จะแสดงออกอย่างมั่นใจ แต่ถ้ามากเกินไปลูกก็เบื่อ พาลเกลียดหนังสือได้ เพราะลูกจะคิดว่าเมื่อแม่จับหนังสือ พ่อถือนิทาน กว่าจะได้ฟังเรื่องสนุก ๆ ดูภาพสวย ๆ ต้องมาคอยตอบคำถามมากมาย จนแทบไม่ได้ฟังเรื่องสนุกสนาน

ยิ่งขณะที่ลูกใจจดใจจ่อกับเรื่องราวที่จะเกิดขึ้นในตอนต่อไป หรือภาพในหน้าถัดไป กลับต้องมาคอยคิดคำตอบ จนลืมเรื่องและภาพที่ผ่านมาจนต่อไม่ติด การอ่านหนังสือจึงน่าเบื่อ..ไม่น่าติดตาม

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *